PM 2.5 หรือชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron ในบ้านเรายังคงมีต่อเนื่องและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนาดที่จมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจไปยังปอด กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ หากสูดดมนานเข้าจะเกิดการสะสมในร่างกายจนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน ?
หลายสถาบันวิเคราะห์ วิจัยสาเหตุของการเกิด PM2.5 ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆและการเผาวัสดุต่างๆ ข้อมูลจากกรมมลพิษและกระทรวงพลังงานพบว่า สาเหตุของ PM2.5 ในประเทศไทยเกิดจาก การเผาในที่โล่งเป็นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ PM2.5 มากที่สุด ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง โดยภาคการผลิตไฟฟ้านั้นเป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ในอันดับที่ 4 และที่อยู่อาศัยบ้านเรือนเป็นอันดับที่ 5
แหล่งกำเนิดของฝุ่นร้าย PM2.5
- แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง, การเผาในที่โล่งแจ้ง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง
- แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น การปฏิกิริยาเคมีในอากาศโดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก
ภัยร้ายแรงจากฝุ่นร้าย PM 2.5
ความร้ายแรงจากฝุ่นนี้มันสามารถผ่านการกรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ถึงแม้ฝุ่น PM2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่ใช้เวลาสะสมนับสิบปีถึงจะแสดงผล อันตรายจากฝุ่น PM2.5 คือ มันสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำพาสารอื่นๆ เข้าสู่ปอดด้วยการให้สารเหล่านั้นมาเคลือบบนผิว ของมัน เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เป็นต้น ส่งผลให้เกิดภัยร้ายต่อร่างกาย ดังนี้
- ภัยร้ายต่อทางเดินหายใจและปอด
- ภัยร้ายต่อหัวใจ
- ภัยร้ายต่อสมอง
สัญญาณเตือน!!
ร่างกายคุณกำลังโดนฝุ่นร้าย PM2.5 เล่นงาน
- ตาแดง เปลือกตาบวม
- ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มผื่น นูนแดงบนผิวหนัง
- รู้สึกคัน แสบ แน่นในโพรงจมูก มีน้ำมูกแบบใส
- ไอ จาม รู้สึกแน่นหน้าอก
- ตัวร้อน มีไข้
กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่น PM2.5
ความเสี่ยงเจ็บป่วยจาก PM2.5 นั้นมากน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายด้วย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น
- เด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากตัวเล็ก หายใจเร็ว พฤติกรรมของเด็กที่ชอบเล่นในที่กลางแจ้ง มีโอกาสสูดรับฝุ่นปริมาณมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และมีแนวโน้มไม่ใส่เครื่องป้องกันฝุ่น
- ผู้ป่วยโรคหืด จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่น PM2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ ทำให้มีสมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการหืดกำเริบได้ เพิ่มความเสี่ยงของการเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน และห้องไอซียู
- หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า ตัวเล็ก และถ้าสัมผัสฝุ่นมลพิษในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- คนชรา พบว่า PM2.5 เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตโดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 1.5 เท่า
วิธีป้องกันให้พ้นจากฝุ่นร้าย PM2.5
- ควรอยู่ในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะจะมีโอกาสสัมผัสฝุ่นน้อยลง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาด ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้
- งดสูบบุหรี่ เพราะนอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
- สวมใส่หน้ากากอนามัยแบบป้องกัน ฝุ่นละออง PM2.5 ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
- ควรเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 โดยปิดห้องให้มิดชิดไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในห้อง