Last updated: 11 มี.ค. 2567 | 798 จำนวนผู้เข้าชม |
นิยามของความสุขคืออะไร?
การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการและมีอิสระที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง หรือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวและได้รับการยอมรับจากคนใกล้ชิด รู้สึกพอใจในสิ่งที่เป็น ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร หรือการมีจิตใจที่สงบ ไม่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรค ได้พัฒนาตนเองตามเป้าหมายในชีวิตและคิดเชิงบวก หรือการมีสุขภาพกายและจิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยบ่อย ไม่เป็นโรคร้ายแรง
1. กิจกรรมพาสุขและรอยยิ้มคลายเศร้า
การได้ออกไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ การนวดผ่อนคลาย หรือหากิจกรรมที่สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ ไม่ว่าจะเป็นกับคนในครอบครัว เพื่อนหรือคนรัก ก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลายจากงานประจำหรือปัญหาที่พบเจอได้ นอกจากนั้นการฝืนยิ้มกับตัวเองในยามที่เจอปัญหา จะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ที่ชื่อ เซโรโทนินและเอนดอร์ฟิน ออกมาได้เช่นกัน
2. รับแสงแดดอ่อนๆ
นอกจากการรับวิตามินดีจากอาหารจำพวกปลา ตับปลา และไข่แดง การให้ร่างกายได้รับแสงแดด ตอนเช้าตรู่ หรือช่วงเย็น (ที่ไม่ใช่ช่วง 10.00-15.00 น.) ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนังเช่นกัน วิตามินดีนอกจากจะช่วยในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก กระตุ้นภูมิต้านทาน ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน(Serotonin) ทางอ้อมได้ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า
3. กินช็อคโกแลต
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่รับประทานดาร์กช็อกโกแลตประมาณ 50-100 กรัม ( ให้พลังงาน 300-600 แคลอรี่) 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ทานเลย เนื่องจากสารสำคัญในช็อกโกแลตช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดสมดุลและเสริมความแข็งแรงของหลอดเลือดหัวใจ และการกินช็อกโกแลตให้มีประโยชน์สูงสุด ควรเลือกดาร์กช็อกโกแลต (Dark Chocolate) ที่ผลิตจากผลโกโก้ที่ได้มาตรฐาน คือมีปริมาณของโกโก้สูง 70-85%
แม้ดาร์กช็อกโกแลตจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและนมน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่เลย ดังนั้นจึงควรกินช็อกโกแลตในปริมาณที่เหมาะสม
4. เน้นอาหารที่เป็นแหล่งทริปโตเฟน
ทริปโตเฟน (Tryptophan) คือ กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เป็นกรดอะมิโนจำเป็น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ต้องได้รับจากอาหารอื่น พบได้ในนม เนย ไข่แดง เนื้อสัตว์ ปลา ไก่งวง ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ อินทผลัมแห้ง กล้วย คอตเทจชีส (Cottage Cheese) และอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด ร่างกายสามารถนำไปใช้สร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารสื่อประสาทที่ช่วยทำให้เรามีความสุข นอกจากนั้น ทริปโตเฟนยังทำงานร่วมกับกรดโฟลิกและธาตุเหล็กในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย
5. เล่นกับสัตว์เลี้ยง
หลายครั้งที่พบว่าผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงจะมีความเครียดสะสมน้อย การเล่นกับสุนัขและแมวหรือสัตว์เลี้ยงที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงได้ อาจช่วยเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความสุขได้หลายชนิด เช่น เซโรโทนิน และออกซิโตซิน ( Oxytocin คือฮอร์โมนที่เกิดจากความรักและความผูกพันธ์)
6. ให้เวลากับตัวเอง
''เวลา'' เป็นสิ่งที่มีค่า การที่คุณใช้เวลาไปกับอะไรมากๆ จะแสดงให้รู้ว่าคุณให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นๆ มากเช่นกัน ซึ่งบางวันเราจะยุ่งหรือเหนื่อยไปบ้าง แต่ก็อย่าลืมเผื่อเวลาให้กับตัวเอง อาจจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ สักชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เราทำสิ่งที่เรารัก เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูซีรีส์ หรือนั่งสมาธิ เพียงแค่นี้ก็ถือเป็นการเพิ่มความสุขให้ตัวเองได้ง่ายๆ แล้ว แถมยังทำให้ได้นั่งทบทวนตัวเองอีกด้วย
7. ฝึกสมาธิ
เพราะความเครียดคือสิ่งที่ไปรบกวนการผลิตเซโรโทนินในร่างกาย ยิ่งใครที่สะสมความเครียดเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะยิ่งมีระดับเซโรโทนินที่อยู่ในระดับต่ำมาก เพราะฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงความเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด เมื่อกำลังอยู่ในภาวะเครียดหรือความกดดัน การหยุดพักทำจิตใจให้สงบด้วยการกำหนดลมหายใจ หรือการนั่งสมาธิ คืออีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลายและสงบลง ลองหลับตา แล้วปล่อยลมหายใจเข้า-ออกยาวๆ สัก 30 นาที ก็จะช่วยให้ร่างกายลดระดับความเครียดลง แถมยังช่วยเพิ่มระดับเอ็นโดรฟินในร่างกายให้ร่างกายสดชื่น อ่อนเยาว์ และนอนหลับสบายได้ดีขึ้น
8. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อม ยังสามารถกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายได้หลายชนิด เช่น
โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการซ่อมแซมและเสริมสร้างร่างกาย
เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อ
อินซูลิน และไทรอยด์ฮอร์โมน (Insulin and Thyroid Hormone) ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลและกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย
นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ‘‘การนวด’’ ยังสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขได้ด้วย เพราะในระหว่างการนวด ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา นั่นคือ ฮอร์โมนเอ็นโดฟิน ที่จะทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และลดอาการเครียดนั่นเอง และจากการวิจัยพบว่า ‘‘การนวด’’ จะช่วยเพิ่มซีโรโทนิน ถึง 28% และลดสารคอร์ติโซน ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ถึง 31%
และนี่ก็คือ 8 เคล็ดลับในการสร้างฮอร์โมนความสุขให้ตัวเอง ลองนำไปปฏิบัติดูนะคะ แล้วจะเห็นว่าความสุขอยู่ใกล้มือเราเอง :)
ขอบคุณบทความจาก : 8 เคล็ดลับ สร้างฮอร์โมนความสุขให้ตัวเอง
25 ต.ค. 2567
21 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
4 ต.ค. 2567