Last updated: 19 เม.ย 2567 | 984 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดหลัง ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็มีโอกาสปวดหลังได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะปวดมากหรือน้อย ปวดหลังส่วนบน ปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดหลังด้านข้าง บางรายปวดจนกลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการปวดหลังมักไม่ได้มีสาเหตุรุนแรงและสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป และสามารถบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง
เพื่อให้สามารถคลายความปวดได้อย่างตรงจุด คุณอาจจะต้องรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังว่าเกิดจากอะไร เช่น อาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง เนื่องจากการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน หรือการหักโหมออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยมีเทคนิคการเยียวยาอาการปวดหลังเบื้องต้นที่สามารถทำเองได้ ดังนี้
ลดอาการปวดด้วยการประคบร้อนและประคบเย็น
สำหรับบางคนที่มีอาการปวดหลังในระยะเริ่มต้น การประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง จะช่วยลดแผลอักเสบหรือการบวมได้ด้วยการลดการไหลของเลือด การวางถุงน้ำแข็งลงบนบริเวณที่เพิ่งเริ่มปวด แบบไม่เกิน 48 ชั่วโมง สามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยให้วางไว้ 20 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ส่วนการประคบด้วยความร้อน จะช่วยในการบรรเทาการปวดของกล้ามเนื้อ โดยหาจุดที่ปวดให้เจอแล้วประคบร้อนบริเวณนั้น เนื่องจากความร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยาย เหมาะสำหรับอาการปวดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เมื่อหลอดเลือดขยาย จะส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และอาการปวดจะบรรเทาลง
นอนราบแผ่นหลังติดพื้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง
เมื่อมีอาการปวดหลังเกิดขึ้น มองหาที่นอนที่ไม่นุ่มและไม่แข็งจนเกินไป แต่มีพื้นแบนราบพอที่จะนอนลงไปได้ สบายๆ เช่น เสื่อโยคะ จากนั้นดันแผ่นหลังให้ติดพื้น แขนทั้งสองข้างอยู่แนบกับลำตัว พร้อมเกร็งหน้าท้องค้างไว้ ประมาณ 10 วินาที แล้วพัก จากนั้นทำซ้ำ 2-3 ครั้ง ช่วยให้แผ่นหลังที่อ่อนล้า ปวดเมื่อย กลับเข้ามาอยู่ในสภาพปกติ จัดเรียงกระดูกและกล้ามเนื้อให้กลับมาเข้าที่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นท่าง่ายๆ ที่ช่วยลดอาการปวดหลังส่วนล่างได้
ท่าโยคะนั่งบิดตัว (Seated Twist)
ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายอาการปวดหลังส่วนล่าง เมื่อยล้า ช่วยยืดเยียดกระดูกสันหลัง เปิดหัวไหล่ คอ และสะโพก เพิ่มความยืดหยุ่นบริเวณสะโพกและกระดูกสัน เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อส่วนหลัง เลือดไหลเวียนในบริเวณหลัง เอว ได้ดียิ่งขึ้น
คลายอาการปวดหลังด้วยการนวด
อาการปวดหลัง สามารถคลายความปวดได้ด้วยการนวด เพียงใช้สองมือกดและบีบเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด โดยนั่งขัดสมาธิ กำหมัดทั้งสองวางไว้บริเวณบั้นเอว หายใจเข้าพร้อมกดมือ แอ่นหน้าอก กลั้นหายใจนับ 1-5 หายใจออกพร้อมคลายแรงกด ทำให้ต่อมและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น
ควบคุมน้ำหนักตัว
น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปวดหลัง ดังนั้นให้พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี โดยเฉพาะที่หน้าท้อง เพราะทำให้แรงโน้มถ่วงโน้มไปข้างหน้ามากกว่า แต่คนที่ผอมก็มีโอกาสปวดหลังได้เหมือนกัน เพราะการที่ผอมมาก ๆ หรือมีมวลกระดูกต่ำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี
25 ต.ค. 2567
10 ธ.ค. 2567
21 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567